สำหรับพ่อแม่มือใหม่ ที่เริ่มเลี้ยง เด็กทารก เด็กแรกเกิด เป็นครั้งแรก จะต้องมีคำถามแรกคล้าย ๆ กันอย่างแน่นอน คือ ในหนึ่งมื้อ จะต้องให้ลูกน้อยของเรา กินนมเท่าไหร่ถึงจะพอ และในหนึ่งวันจะต้องให้กินทั้งหมดกี่มื้อ
จริง ๆ แล้วความต้องการของเด็กทารกแต่ละคนไม่เท่ากัน แตกต่างกันไปตามอายุและน้ำหนักตัวของแต่ละคน เพราะฉะนั้นคุณพ่อ คุณแม่ ไม่ต้องกังวลใจไป ถ้าลูกของเรากินนมไม่เท่ากับลูกของคนอื่น ตราบใดที่ลูกของเรามีการเจริญเติบโตที่ดี มีขนาดและน้ำหนักกี่เป็นไปตามเกณฑ์ ก็ถือว่าลูกของเราได้รับปริมาณน้ำนมที่เพียงพอแล้ว
หลักการง่าย ๆ เลยที่เราจะรู้ว่าปริมาณน้ำนมที่เราให้ลูกของเรานั้นพอหรือไม่ เรื่องง่าย ๆ คือการสังเกตลูกของเราเอง เพราะลูกของเราจะเป็นคนบอกเองว่า ต้องการนมมากแค่ไหน อิ่มแล้วหรือยัง และจะหยุดให้เมื่อไหร่
วิธีสังเกตว่า เด็กทารก กินนมเท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอ
- สังเกตภาษากายของลูกเรา ว่าเมื่อหิวแล้วจะมีท่าทางอย่างไรที่แสดงว่าหิว และพยายามให้ลูกได้กินนมก่อนที่จะมีอาการโมโห และร้องไห้งอแง
- ให้ลูกได้กินนมตามที่ลูกต้องการ เพราะเมื่อลูกของเราพอแล้ว เขาจะผละออกเองจากอกแม่ ซึ่งตามเวลาปกติแล้ว จะใช้เวลากินนมต่อเต้าประมาณข้างละ 10-20 นาที
และเมื่อทราบแล้วว่า การแสดงของลูกน้อยสามารถบอกได้ว่าอยากกินนมเมื่อไหร่ และต้องพอเมื่อไหร่ แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรล่ะว่า ลูกน้อยของเราจะได้กินนมเพียงพอต่อการเจริญเติบโต
วิธีสังเกตว่า เด็กแรกเกิด ว่าได้รับปริมาณนมเพียงพอต่อการเจริญเติมโตหรือไม่
- ลูกน้อยมีการเจริญเติบโตดี ร่าเริง สุขภาพดี และตอบสนองต่อสิ่งเร้า
- น้ำหนักของลูกเพิ่มขึ้นเรือย ๆ
- ลูกจะกินนมถี่มากในช่วงเดือนแรก หลังจากนั้นจะจะลดความถี่ลง
- ผ้าอ้อมของทารกจะเปียกชื้น วันละ 6-8 ชิ้น โดยประมาณ
ซึ่งการเติบโตของทารกแต่ละคนนั้น จะเติบโตเร็วมากน้อยไม่เท่ากัน เพียงคุณพ่อ คุณแม่สังเกตการเจริญเติบโตของลูกตามตัวอย่างที่แนะนำให้ทางด้านบน ก็พอที่จะบอกได้ว่า ลูกน้อยของเรานั้นได้รับนมแม่เพียงพอ และเติบโตสมวัยหรือไม่
แต่ถ้าสามารถจะเพิ่มความมั่นใจให้ได้ว่า ลูกของเราควรจะกินนมปริมาณเท่าไหร่ให้เหมาะสมกับวัย ก็มีวิธีการคำนวนประมาณนี้
การคำนวณปริมาณน้ำนมที่เหมาะสมกับวัยของลูกน้อย
1. อายุ แรกเกิด- 1 วัน
ในช่วงแรกเกิดวันแรก ลูกน้อยของเราต้องการดื่มนมเพียง 1 ช้อนชา หรือ 5-7 ซีซี ต่อมื้อ โดยแบ่งเป็นมื้อประมาณ 8 –10 ครั้ง เพราะยังอยู่ในช่วงปรับตัวของทั้งลูก และคุณแม่ คุณแม่เองก็ยังสามารถผลิตน้ำนมได้น้อย อีกทั้งลูกน้อยก็ยังมีกระเพาะที่ขนาดเล็กอยู่ จุดสำคัญคือการให้ลูกได้ดูดนมจากแม่บ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อเป็นการกระตุ้นการผลิตน้ำนมของคุณแม่ จำนวนอาจจะเพิ่มเป็น 0.75 – 1 ออนซ์ หรือ 25-27 ซีซี ในช่วงวันที่ 3
2. อายุ 1 สัปดาห์
จะเพิ่มปริมาณเป็น 1.5-2 ออนซ์ หรือ 45-60 ซีซี ต่อมื้อ 8-10 ครั้ง/วัน ทุก 2-3 ชั่วโมง ซึ่งน้ำนมของคุณแม่จะเริ่มผลิตปริมาณที่มากขึ้น และเปลี่ยนสีเป็นสีขาวนวล ควรให้ลูกน้อยดื่มนมทั้งสองเต้า ข้างละ 15-20 นาที
3. อายุ 1 เดือน
ปริมาณนมที่ลูกน้อยต้องการในช่วงนี้ประมาณมื้อละ 2.5-4 ออนซ์ หรือ 80-120 ซีซี ต่อมื้อ 7-8ครั้ง/วัน ทุก 3-4 ชั่วโมง หรือคำนวณจาก น้ำหนักลูกน้อย (กก.) คูณ 120 ซีซี แล้วหาร 30 ช่วงนี้ลูกน้อยจะเริ่มนอนหลับได้ยาวขึ้นในช่วงกลางคืน จะทานนมทุก 4 ชั่วโมง และในเวลากลางวันก็ยังอาจจะต้องการทานนมบ่อยเท่าเดิมเป็นทุก 2-3 ชั่วโมงได้
4. อายุ 2-6 เดือน
ปริมาณนมที่ลูกน้อยต้องการในช่วงนี้ประมาณมื้อละ 4-6 ออนซ์ หรือ 120-180 ซีซี ต่อมื้อ 5-6 ครั้ง/วัน ลูกน้อยจะเริ่มหลับได้นานขึ้นในช่วงกลางคืน ซึ่งอาจหลับได้นานถึง 4-5 ชั่วโมง ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกว่าลูกดื่มนมได้น้อยอย เพราะในวัยนี้ลูกจะเริ่มห่วงเล่นมากขึ้น
5. อายุ 6-9 เดือน
ลูกน้อยต้องการเพิ่มปริมาณน้ำนมมากขึ้นเป็น 6-8 ออนซ์ หรือ 180-240 ซีซี ต่อมื้อ 4-5ครั้ง/วัน หรือคำนวณจาก น้ำหนักลูกน้อย (กก.) คูณ 110 ซีซี แล้วหาร 30
6. อายุ 9-12 เดือน
ปริมาณนมที่ลูกน้อยต้องการในช่วงนี้ประมาณมื้อละ 6-8 ออนซ์ หรือ 180-240 ซีซี ต่อมื้อ 4-5ครั้ง/วัน หรือคำนวณจาก น้ำหนักลูกน้อย (กก.) คูณ 110 ซีซี แล้วหาร 30 ลูกจะนอนยาวในเวลากลางคืน 6-8 ชั่วโมง อาจจะยังตื่นมาทานนมน้อยลงแค่ 1-2 ครั้ง/คืน เริ่มทานอาหาร 2-3 มื้อ มื้อนมเหลือ 4-5 ครั้ง
7. อายุ 1 ขวบขึ้นไป
เมื่ออายุของลูกน้อยของเราครบหนึ่งขวบแล้ว เด็กควรเริ่มที่จะต้องการอาหารหลักครบ 3 มื้อแล้ว และจึงเสริมด้วยนมครั้งละ 6-8 ออนซ์ หรือ 180-240 ซีซี ต่อมื้อ วันละ 3-4 ครั้งหลังอาหาร และไม่จำเป็นต้องตื่นขึ้นมากินนมกลางดึกอีกแล้ว
ลูกน้อยของเราในแต่ละช่วงเวลามีปริมาณความต้องการนมที่แตกต่างกัน ในช่วงครึ่งปีแรกลูกน้อยของเราจะต้องการดื่มนมถี่มาก การปั้มน้ำนมเก็บไว้ให้ลูก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะนอกจากจะเป็นการเก็บน้ำนมให้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการสร้างน้ำนมของคุณแม่อย่างต่อเนื่อง
สามารถศึกษาวิธีการเก็บรักษานมแม่และการจัดส่งนมแม่ได้ทาง
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.babylove.co.th ( บทความจาก พญ.ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ )