เมื่อหลายแบรนด์ดังพากันเปิดตัวเมนู “ชาไทยไม่ใส่สี” ตอบโจทย์คนรักชาไทยห่วงใยสุขภาพที่กลัวพิษสีผสมอาหาร เทรนด์นี้จะมาแค่ชั่วคราว หรือจะเป็นจุดเปลี่ยนของชาไทยไปตลอดกาล
ช่วงนี้ต้องยกให้กับกระแสของ ชาไทยไม่ใส่สี จริง ๆ หลังจากแบรนด์ดังอย่าง ชาตรามือ และ Café Amazon ออกวางจำหน่าย กระแสรักสุขภาพก็ถูกปลุกขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในหมู่คนรักชาไทยที่เริ่มห่วงใยสิ่งที่อยู่ในแก้วโปรดของตัวเองมากขึ้น แต่เอ๊ะ! เมนูนี้จะฮิตติดชาร์ตเหมือน เพียวมัทฉะ รึเปล่า? Inter Express จะพาทุกท่านมาเจาะลึกเทรนด์นี้ พร้อมวิเคราะห์โอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่ขายชาไทยกัน
กระแส ชาไทยไม่ใส่สี มาจากอะไร?
ก่อนจะพูดถึงชาไทยไม่ใส่สี ทุกคนคงรู้จัก ชาไทย หรือ ชาเย็น กันเป็นอย่างดี เพราะเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน และไม่เพียงแต่เป็นที่รักของคนไทย แต่ยังครองใจชาวต่างชาติด้วยเช่นกัน โดยเว็บไซต์จัดอันดับอาหารระดับโลก TasteAtlas ได้จัดอันดับ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่อร่อยที่สุดในโลก ซึ่ง “ชาไทย” ติดอันดับที่ 7 จากทั่วโลกในปี 2023 ด้วยรสชาติที่อร่อยมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร หอมหวานมันถูกใจสายหวานทั่วโลก
ต่อมาช่วงต้นปี 2025 ชาไทยก็เป็นกระแสเปรี๊ยงปังอีกครั้ง เมื่อ ลิซ่า Black Pink ร่วมมือกับ Erewhon คาเฟ่สายสุขภาพชื่อดังในอเมริกา ออกเมนูเครื่องดื่มสุดพิเศษ ชื่อว่า Thai up the World เป็นชาไทยในรูปแบบพรีเมียม ไม่แต่งสี เน้นสีธรรมชาติของชาดำออร์แกนิค เหล่าอินฟลูเอนเซอร์และคนที่มีโอกาสได้ลอง รีวิวให้เห็นว่า เมนูนี้ไม่ได้มีสีส้มอย่างที่คนไทยคุ้นเคย จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า
“แล้วชาไทยสีส้มสดที่เราดื่มอยู่ทุกวัน มาจากอะไร?”

หลังจากนั้นไม่นานช่วงเดือนเมษายนในปีเดียวกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ นิตยสารฉลาดซื้อ ทดสอบสีผสมอาหารในเครื่องดื่มชาไทย จาก 15 แบรนด์ดังในท้องตลาด พบสีสังเคราะห์ในทุกแบรนด์ ทำให้รู้ว่า สีส้มสดนั้นไม่ได้มาจากสีของใบชา แต่มาจากสีสังเคราะห์นั่นเอง!
อีกทั้งหลายแบรนด์ยังผสมสี Sunset Yellow FCF (หรือ Yellow No.6) ซึ่งถูกแบนในบางประเทศ เช่น ฟินแลนด์และเดนมาร์ก เนื่องจากมีความเสี่ยงก่อให้เกิดอาการแพ้ สมาธิสั้นในเด็ก หรือระคายเคืองในบางราย ข่าวนี้ยิ่งสร้างความกังวลให้กับหลายคน
และช่วงกลางปี 2025 แบรนด์ใหญ่ในประเทศไทยอย่าง ชาตรามือ และ Café Amazon ออกเมนู “ชาไทยไม่ใส่สี” เป็นเมนูทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ไม่อยากเสี่ยงต่อผลกระทบของสีสังเคราะห์ในระยะยาว สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำแบรนด์ชาไทยในบ้านเรา ถึงความใส่ใจเรื่องสุขภาพ และความโปร่งใสเรื่องส่วนผสม ไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับผู้บริโภคยุคนี้ นี่จึงไม่ใช่แค่การออกเมนูใหม่ แต่คือการ “ตั้งมาตรฐานใหม่” ให้กับวงการชาไทย และสะท้อนว่า ผู้ผลิตต้องปรับตัว หากต้องการครองใจคนดื่มรุ่นใหม่ได้อย่างยั่งยืน
“ชาไทยไม่ใส่สี” คืออะไร ต่างจากชาไทยทั่วไปยังไง?
1. สีผสมอาหาร
ชาไทยทั่วไป มักใช้สีสังเคราะห์ Sunset yellow FCF แต่งสีให้น่ารับประทานมากขึ้น การบริโภคควรอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เกิน 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือพูดง่าย ๆ คือ ไม่ควรดื่มเกิน 1–2 แก้วต่อวัน
ชาไทยไม่ใส่สี ใช้สีธรรมชาติจากใบชาที่ผ่านการหมักโดยไม่เติมสารเคมี ลดความเสี่ยงจากสีสังเคราะห์ได้
2. กรรมวิธีการผลิต
ชาไทยทั่วไป มักใช้ ชาแดง ที่ผลิตจากใบชาเกรดกลาง – ต่ำ ผ่านการหมักระยะสั้น สีที่ได้จะอ่อนมาก จึงต้องมีการเติมสีสังเคราะห์ในใบชาแห้ง เพื่อเวลาชงจะมีสีสันน่ารับประทานยิ่งขึ้น
ชาไทยไม่ใส่สี จะคัดสรร ใบชาคุณภาพสูงกว่า และบางเจ้าจะใช้ชาดำหมักทีใช้เวลาหมักนานกว่า ทำให้มีสีสวยโดยไม่ต้องแต่งเติม สีที่ได้เมื่อผสมกับนมแล้วจะได้โทนครีมน้ำตาล คล้ายๆ สีกาแฟลาเต้
3. รสชาติ
ชาไทยทั่วไป ใช้ใบชาเกรดกลาง – ต่ำจึงไม่ได้รับรสชาติชาเท่าไหร่ แต่จะได้ความหวานมันจัดจากน้ำตาล นม และได้กลิ่นหอมจากสมุนไพร วานิลลาที่แต่งเติมเข้ามา
ชาไทยไม่ใส่สี ส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะคัดใบชาเกรดพรีเมี่ยม ทำให้ได้รสชาติชาที่เข้มและชัดขึ้น มีรสขมฝาดอ่อนๆ ของใบชาธรรมชาติ บางเจ้ายังแต่งกลิ่นสมุนไพรและวานิลลาเพิ่มด้วย เพื่อคงกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชาไทยไว้
ดื่มชาไทยไม่ใส่สียังไงให้ดีต่อสุขภาพ?
แม้ว่าชาไทยไม่ใส่สีจะคัดเกรดชาที่มีคุณภาพมากขึ้น แต่ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึง อย่างส่วนผสมอื่นๆ เช่น น้ำตาล ไขมันจากนมหรือครีมเทียม และปริมาณคาเฟอีน ดังนั้นเพื่อให้ได้ประโยชน์ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
1. ดื่มในปริมาณพอเหมาะ ปริมาณที่แนะนำ ไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน (ประมาณ 250–350 มล.)
2. เลือกสูตรไม่หวาน หรือหวานน้อย ไม่ควรทานน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน (24 กรัม)
3. เลี่ยงการดื่มขณะท้องว่าง สำหรับบางคนที่ไวต่อคาเฟอีน อาจมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ได้ (ชาไทยมีปริมาณคาเฟอีนประมาณ 20-60 มิลลิกรัม/100กรัม)
4. ควรหมุนเวียนดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น ชาเขียว โกโก้ น้ำชาเพียว ๆ ไม่ต้องผสมอะไรเลยเพื่อความหลากหลาย และเพื่อผลดีต่อสุขภาพของเราในระยะยาว
เทรนด์นี้จะไปต่อไหม? ดูจากตัวเลขแล้ว…มีลุ้น

“ชาไทยไม่ใส่สี” กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกยอดฮิตของคนรักสุขภาพ และจากตัวเลขล่าสุด ก็ยิ่งตอกย้ำว่าเทรนด์นี้ไม่ได้มาเล่น ๆ
ข้อมูลจาก LINE MAN Wongnai เผยว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2565–2567) ยอดสั่งซื้อ “ชาไทย” เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในปี 2565 มีผู้สั่งชาไทยราว 100,000 แก้ว และในปี 2567 ยอดทะลุไปถึง 400,000 แก้ว เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ในเวลาเพียง 2 ปี!
ไม่เพียงเท่านั้น ใน การประชุมเครือข่ายชา–กาแฟประเทศไทย ปี 2566 ยังระบุว่า “ชาเพื่อสุขภาพ” เป็นหนึ่งใน 3 เทรนด์สำคัญที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมชาทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2564 ได้แก่
1. การดื่มชาพรีเมียมที่บ้าน
2. ชาเพื่อสุขภาพ
3. การเลือกซื้อชาผ่านช่องทางออนไลน์
แนวโน้มทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ผู้บริโภคกำลังมองหาชาที่ “ดีต่อสุขภาพ” และ “ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์” มากกว่าที่เคย โดยเฉพาะการเลือกซื้อชาแบบออนไลน์เพื่อนำไปชงเองที่บ้าน กลายเป็นพฤติกรรมใหม่ที่มาแรงไม่แพ้คาเฟ่
ดังนั้น ชาไทยไม่ใส่สี จึงมีโอกาส “ไปต่อได้จริง” ไม่ใช่แค่เพราะความแปลกใหม่ แต่เพราะสอดคล้องกับกระแส Clean Eating และความใส่ใจเรื่องวัตถุดิบที่แท้จริงสำหรับผู้ประกอบการ เทรนด์นี้คือสัญญาณชัดเจนว่า ถึงเวลา ยกระดับชาไทย ตั้งแต่การคัดเลือกใบชาคุณภาพ ไปจนถึงการลดการแต่งสีแต่งกลิ่น ผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ได้แค่ดื่มเพื่อความอร่อย แต่ยัง “เลือกเพื่อสุขภาพ” และ “เลือกแบรนด์ที่ใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค” ด้วย
ส่งชาไทยไม่ใส่สีถึงมือลูกค้าทั่วไทยด้วยบริการขนส่งแช่เย็น
ไม่ว่าคุณจะเป็น เจ้าของร้านชา คาเฟ่เล็ก ๆ หรือ เจ้าของกิจการที่ยังไม่มีหน้าร้าน หากกำลังมองหาโอกาสในการขยายตลาดชาไทยไม่ใส่สีให้ไปไกลกว่าแค่ขายหน้าร้าน Inter Express พร้อมเป็นผู้ช่วยของคุณ!
เรามีบริการ Inter Pack บริการแพ็คพร้อมส่ง ที่ออกแบบมาเพื่อสินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิอย่างมืออาชีพ คุณไม่ต้องกังวลเรื่องแพ็คสินค้ายังไง เพียงแค่เตรียมสินค้าก่อนนำมาส่ง โดยนำไปแช่เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศา อย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วนำมาส่งที่สาขาใกล้บ้าน เรามีทีมงานคอยช่วยแพ็คสินค้าให้เรียบร้อย พร้อมใส่อุปกรณ์ทำความเย็นที่ได้มารตฐานภายในกล่องซึ่งสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ตลอดระยะเวลาการขนส่ง มั่นใจได้ว่าเครื่องดื่มของคุณจะถูกส่งถึงมือลูกค้าได้อย่างปลอดภัย สดใหม่พร้อมดื่มอย่างแน่นอน
เริ่มต้นขยายตลาดของคุณง่าย ๆ ได้แล้ววันนี้ ส่งชาไทยไม่ใส่สีของคุณไปถึงคนรักสุขภาพทั่วไทย!
แหล่งที่มา
กระบวนการผลิตชา: สถาบันชาและกาแฟมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ผลทดสอบสีสังเคราะห์ในเครื่องดื่มชานมไทย: นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ทำไมชาไทยต้องใส่สี?: เชฟทักษ์ นุติ หุตะสิงห์
ยอดสั่งชาไทย Specialty บน LINE MAN : LINE MAN Wongnai
10 เทรนด์น่าสนใจในอุตสาหกรรมชาตั้งแต่ปี 2564-2566: กรุงเทพธุรกิจ